นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสภากาชาดไทย พ.ศ. 2564

สภากาชาดไทย เป็นองค์กรสาธารณะกุศลระดับชาติมีการ ดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาดสากล เป็นองค์กรที่มีลักษณะเป็นพลวัต และนวัตกรรม โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวไปข้างหน้าสู่ความเป็นเลิศ เป็นไปตามคติทัศน์ ซึ่งสภากาชาดไทยมีพันธกิจหลักอยู่ 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. การบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย
  2. การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
  3. การบริการโลหิต
  4. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต

เนื่องจากสภากาชาดไทยมีกิจกรรมและให้บริการต่าง ๆ อาทิ การรับบริจาค การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน การให้บริการทางการแพทย์ การรับสมัครอาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมและการให้บริการในสังกัดสภากาชาดไทย จะจัดให้มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบนหลักการที่กำหนดไว้ตามนโยบายฯฉบับนี้ เว้นแต่บางกิจกรรมและการบริการอื่นใด ที่มีการกำหนดและประกาศนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งท่านสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ตามประกาศที่เว็บไซต์ หรือในเอกสารแยกตามประเภทกิจกรรมหรือบริการของสภากาชาดไทย

1.ขอบเขตและการบังคับใช้

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ ใช้บังคับกับสภากาชาดไทย บุคลากรของสภากาชาดไทย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการใด ๆ เช่น การเก็บรวมรวบ บันทึก จัดระบบ ทำโครงสร้าง เก็บรักษา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง กู้คืน ใช้ เปิดเผย ส่งต่อ เผยแพร่ โอน ผสมเข้าด้วยกัน ลบ ทำลาย กับข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บังคับใช้ในปัจจุบัน หรือที่จะมีการแก้ไขเป็นครั้งคราว

สภากาชาดไทยมีความมุ่งมั่นเสมอมาในการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การล่วงละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล การควบคุมการใช้ข้อมูล และการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายฉบับนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและได้รับความไว้วางใจจากท่านในการดำเนินการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของท่านอย่างเหมาะสม และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้กันทั้งในและต่างประเทศ

2. การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

2.1 สภากาชาดไทยจะเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่านตามที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาตให้ทำได้ โดยท่านสามารถตรวจสอบวัตถุประสงค์ของการใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และประเภทข้อมูลที่สภากาชาดไทยเก็บรวบรวมจากหนังสือแจ้งการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละกิจกรรมของสภากาชาดไทย ซึ่งท่านได้เข้าทำธุรกรรมใด ๆ กับสภากาชาดไทย ตามช่องทางกิจกรรมดังนี้

2.1.1 งานบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาล รายละเอียดหนังสือแจ้งการประมวลผลข้อมูลสำหรับกิจกรรมนี้ (คลิกเพื่ออ่าน)

2.1.2 งานบรรเทาทุกข์ อาสาสมัคร และการจัดอบรม รายละเอียดหนังสือแจ้งการประมวลผลข้อมูลสำหรับกิจกรรมนี้ (คลิกเพื่ออ่าน)

2.1.3 ศูนย์รับบริจาค และให้การสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ รายละเอียดหนังสือแจ้งการประมวลผลข้อมูลสำหรับกิจกรรมนี้ (คลิกเพื่ออ่าน)

2.2 ในกรณีที่สภากาชาดไทยจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดเป็นการเฉพาะนอกเหนือจากที่กล่าวมา สภากาชาดไทยจะดำเนินการแจ้งให้ท่านทราบเป็นครั้งคราว และอาจขอความยินยอมจากท่านเป็นกรณี ๆ ไป โดยพิจารณาจากประเภทของข้อมูล

ข้อมูลอ่อนไหว (Sensitive Data) กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้มีการกำหนดข้อมูลบางประเภทให้เป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ ศาสนา พฤติกรรมทางเพศ ความคิดเห็นทางการเมือง ความพิการ ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น และการเก็บรวบรวมจะทำได้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงอาจต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ดังนั้น สภากาชาดไทยจะดำเนินการเก็บข้อมูลอ่อนไหวเฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และสภากาชาดไทยจะแจ้งให้ท่านทราบอย่างชัดแจ้งถึงเหตุผลความจำเป็น รวมถึงอาจขอความยินยอมจากท่านเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลอ่อนไหวดังกล่าว

ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์ บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลไร้ความสามารถ (“บุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถทางกฎหมายในการทำธุรกรรม”) สภากาชาดไทยจะทำการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถทางกฎหมายในการทำธุรกรรมเฉพาะกรณีและตามแนวทางที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนด โดยในกรณีที่สภากาชาดไทยมีความจำเป็นจะต้องขอความยินยอมในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถทางกฎหมายในการทำธุรกรรมสำหรับกิจกรรมใด สภากาชาดไทยจะดำเนินการขอความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล ที่มีอำนาจกระทำการแทนบุคคลดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีขอความยินยอมในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นการเฉพาะตัวหรือ เป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพอันสมควร ซึ่งผู้เยาว์ดังกล่าวสามารถให้ความยินยอมโดยลำพังได้

2.3 สภากาชาดไทยอาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของท่าน เมื่อท่านได้มีปฏิสัมพันธ์หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสภากาชาดไทย อาทิ สมัครเป็นอาสาสมัคร ลงทะเบียนเพื่อร่วมกิจกรรมกับสภากาชาดไทย สนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทยผ่านการบริจาค การซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในงานที่สภากาชาดไทยเป็นผู้จัดขึ้น การระดมเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในนามของสภากาชาดไทย การบอกเล่าเรื่องราวของท่านหรือให้คำแนะนำติชมของท่าน เข้าเป็นคู่สัญญากับสภากาชาดไทย ยื่นเอกสารคำร้อง คำขอ ประเภทต่างๆ เข้าใช้บริการต่างๆ ของสภากาชาดไทย เยี่ยมชมเพื่อทำความรู้จักสภากาชาดไทย หรือการบันทึกภาพจากกล้อง CCTV กล้องวีดีโอ กล้องถ่ายภาพนิ่งของสภากาชาดไทยเมื่อท่านเข้ามาในสถานที่ของสภากาชาดไทย หรือในสถานที่ร่วมกิจกรรมของสภากาชาดไทย เป็นต้น
2.4 สภากาชาดไทยอาจเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้มาจากท่านโดยตรง เช่น จากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนซึ่งเป็นพันธมิตรของสภากาชาดไทย หรือจากแหล่งข้อมูลสาธารณะอื่น ๆ เช่น ข้อมูลที่เปิดเผยโดยรัฐบาล และหน่วยงานทางวิชาชีพ สื่อ หรือ เอกสารเผยแพร่สาธารณะ เป็นต้น
2.5 สภากาชาดไทยอาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของท่านตามที่ท่านมีปฏิสัมพันธ์กับสภากาชาดไทยผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม เช่น Facebook, Twitter, Instagram, LinkedIn, Line เป็นต้น โดยสภากาชาดไทยอาจใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว เมื่อท่านใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของสภากาชาดไทย ผ่านคอมพิวเตอร์ และ/หรืออุปกรณ์พกพาของท่าน ซึ่งเทคโนโลยีอัตโนมัตินี้อาจรวมถึงคุกกี้ เว็บบีคอน พิกเซลแท็ก และเทคโนโลยีการติดตามอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยข้อมูลที่สภากาชาดไทยได้รับและเก็บรวบรวมนี้อาจขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเป็นส่วนบุคคลของท่านและนโยบายความเป็นส่วนบุคคลของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนั้นๆ รวมไปถึงข้อมูลการใช้งานหรือบริการของท่านบนเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย เช่น หน้าเพจที่ท่านเข้าเยี่ยมชมหรือใช้บริการ หรือลิงก์ต่าง ๆ ที่ท่านได้คลิกเพื่อเข้าถึงเนื้อหาส่วนอื่นของเว็บไซต์ หรือออกไปสู่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของบุคคลที่สาม เป็นต้น รวมถึงเก็บรวบรวมข้อมูลทางเทคนิคเมื่อท่านใช้งานเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย เช่น ประเภทระบบปฏิบัติการ ประเภทเบราว์เซอร์ การตั้งค่า ประเภทอุปกรณ์ที่ใช้ หรือข้อมูลประเภท Uniform Resource Locator, ที่อยู่ไอพี (IP Address) เป็นต้น

การใช้คุกกี้ คุกกี้ (Cookie) คือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก จัดเก็บในลักษณะของไฟล์ข้อความ (Text file) ที่จะถูกส่งไปยังเบราว์เซอร์ของเจ้าของข้อมูล เพื่อส่งข้อมูลกลับมายังเซิร์ฟเวอร์ทุกครั้งที่เจ้าของข้อมูลได้มีการเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์ โดยเว็บไซต์ของสภากาชาดไทยจะส่งคุกกี้ไปยังเบราว์เซอร์ของท่าน และอาจมีการบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ท่านใช้เข้าเว็บไซต์ ซึ่งคุกกี้มีประโยชน์สำคัญในการทำให้เว็บไซต์สามารถจดจำการตั้งค่าต่าง ๆ บนอุปกรณ์ของท่านได้

ทั้งนี้ เมื่อท่านเลือกการบริการใด ๆ ของสภากาชาดไทย ลงทะเบียนรับข่าวสารหรือการแจ้งทางอีเมล กรอกข้อมูลแบบฟอร์มออนไลน์ หรือกรอกแบบสอบถาม สภากาชาดไทยอาจระบุเบราว์เซอร์ของท่าน และนำข้อมูลจากคุกกี้ และข้อมูลอื่นที่เก็บรวบรวมออนไลน์ไปใช้ร่วมกับข้อมูลอื่นที่อยู่ในความครอบครองของสภากาชาดไทย ทั้งนี้ ท่านอาจลบการตั้งค่าเบราว์เซอร์เพื่อยกเลิกการใช้คุกกี้ และยังคงใช้งานเว็บไซต์ของสภากาชาดไทยต่อไปได้ รายละเอียดเพิ่มเติมเป็นไปตามนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)  (คลิกเพื่ออ่าน)

2.6 สภากาชาดไทยจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไว้เป็นระยะเวลาตราบเท่าที่วัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ยังคงมีอยู่ หลังจากนั้นสภากาชาดไทยจะลบและทำลายข้อมูลดังกล่าว เว้นแต่กรณีจำเป็นต้องเก็บรักษาข้อมูลต่อไปตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด หรือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสภากาชาดไทย โดยปกติระยะเวลาการเก็บข้อมูลสูงสุดจะไม่เกินกำหนดระยะเวลา 10 (สิบ) ปี เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดให้เก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น หรือหากมีความจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เพื่อความปลอดภัย เพื่อการป้องกันการละเมิดหรือการประพฤติมิชอบ หรือเพื่อการเก็บบันทึกทางการเงิน เป็นต้น
2.7 สภากาชาดไทยจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล โดยไม่มีฐานการประมวลผลข้อมูลโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยข้อมูลของท่านอาจถูกเปิดเผย หรือโอนไปยังองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ หรือผู้ให้บริการภายนอก
ในกรณีที่สภากาชาดไทยจำเป็นต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคลของท่านให้แก่บุคคลภายนอก สภากาชาดไทยจะดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่า บุคคลภายนอกจะดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ไม่ให้เกิดการสูญหาย การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต การใช้ การดัดแปลง หรือการเปิดเผยและการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง
2.8 สภากาชาดไทยจะทำการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต่อผู้รับข้อมูลในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนดให้ทำได้เท่านั้น ทั้งนี้ สภากาชาดไทยอาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การโอนข้อมูลระหว่างประเทศ โดยเข้าทำข้อสัญญามาตรฐานหรือใช้กลไกอื่นที่พึงมีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลที่ใช้บังคับ และสภากาชาดไทยอาจอาศัยสัญญาการโอนข้อมูล หรือกลไกอื่นที่ได้รับการอนุมัติ เพื่อการโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ

3.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

3.1 สภากาชาดไทยจะใช้มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการป้องกันด้านการบริหารจัดการ (Administrative Safeguard) มาตรการป้องกันด้านเทคนิค (Technical Safeguard) และมาตรการป้องกันทางกายภาพ (Physical Safeguard) ในเรื่องการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล (Access Control) เพื่อป้องกันการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต และสอดคล้องกับการดำเนินงานของสภากาชาดไทย และมาตรฐานที่รับรองโดยทั่วไป
3.2 สภากาชาดไทยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทย เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนี้ สภากาชาดไทยยังมีการจัดจ้างผู้ให้บริการภายนอกเพื่อดำเนินการตรวจสอบสถานะให้แน่ใจว่า ผู้ให้บริการภายนอกที่สภากาชาดไทยทำการว่าจ้างจะมีการใช้มาตรการในการเก็บรวบรวม ประมวลผล โอนย้าย จัดการ และรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลอย่างเพียงพอในการให้บริการภายใต้วัตถุประสงค์ของสภากาชาดไทย
3.3 สภากาชาดไทยจะมีการสอบทานและปรับปรุงมาตรการดังกล่าวตามความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าการประมวลผลข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ ของประเทศและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดีแม้ว่าสภากาชาดไทย จะทุ่มเท และใช้ความพยายามในการดูแลข้อมูลให้มีความปลอดภัย ด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคนิคร่วมกับการบริหารจัดการโดยบุคคล เพื่อควบคุมและรักษาความปลอดภัยข้อมูล มิให้มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่เป็นความลับของเจ้าของข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่อาจไม่สามารถป้องกันความผิดพลาดได้ทุกประการ เช่น การปกป้องข้อมูลของเจ้าของข้อมูลจากการถูกจู่โจมโดยไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือถูกเข้าถึงโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจได้ เจ้าของข้อมูลจึงควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ติดตั้งซอฟต์แวร์ประเภท personal firewall เพื่อป้องกันคอมพิวเตอร์จากการจู่โจม หรือโจรกรรมข้อมูล

4.การรองรับการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เจ้าของข้อมูลสามารถใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีสิทธิดังต่อไปนี้

4.1 สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
4.2 สิทธิในการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง
4.3 สิทธิในการโอนถ่ายข้อมูลส่วนบุคคล
4.4 สิทธิในการขอให้ลบข้อมูลส่วนบุคคล
4.5 สิทธิในการระงับใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
4.6 สิทธิในการคัดค้านการเก็บ การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
4.7 สิทธิในการถอนความยินยอม

ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลเคยให้ความยินยอมใด ๆ ไว้ให้แก่สภากาชาดไทย (ที่ไม่ใช่ความยินยอมตามที่กฎหมายอื่นกำหนด) เจ้าของข้อมูลสามารถเพิกถอนความยินยอมดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่อาจกระทบต่อการให้บริการบางประการซึ่งจะได้แจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในเวลาที่เจ้าของข้อมูลขอถอนความยินยอม

5. การติดต่อกับสภากาชาดไทย

หากท่านเห็นว่า การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ท่านมีสิทธิที่จะร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไปที่เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสภากาชาดไทยผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่าง ทั้งนี้ สภากาชาดไทยจะตอบกลับมายังท่านภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล และไม่เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สภากาชาดไทยจะใช้ความพยายามทุกวิถีทาง เพื่อแก้ไขข้อร้องเรียนหรือปัญหาต่าง ๆ โดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

อย่างไรก็ตาม สภากาชาดไทยจะชี้แจงให้ท่านทราบ หากคำร้องขอใช้สิทธิของท่านเกิดข้อจำกัดบางประการ ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอใช้สิทธิของท่านได้ เนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ หากท่านเห็นว่า สภากาชาดไทยมีการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ท่านสามารถยื่นข้อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ส่งถึง: สภากาชาดไทย
เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
อาคารเทิดพระเกียรติฯ ชั้น 10 เลขที่ 1871 ถนนพระราม 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330
อีเมล dpo@redcross.or.th โทรศัพท์ 0 2256 4015

หมายเหตุ:

  • โปรดระบุรายละเอียดการติดต่อของเจ้าของข้อมูล เมื่อมีการร้องเรียนหรือขอใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อให้ สภากาชาดไทย สามารถติดต่อกลับโดยเร็วที่สุด
  • สภากาชาดไทย อาจคิดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการนี้ขึ้นกับดุลพินิจของสภากาชาดไทยแต่เพียงผู้เดียว โดยอาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามคำขอภายใต้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งนอกเหนือไปจากคำขอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล

สภากาชาดไทย อาจมีปรับปรุงนโยบายนี้เป็นครั้งคราว เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาจะมีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน หากสภากาชาดไทย มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สภากาชาดไทยจะปรับปรุงและแก้ไขนโยบายฉบับนี้ และแสดงบนเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย เพื่อให้ท่านได้ทราบถึงวิธีการที่สภากาชาดไทย เก็บรวบรวม ใช้ จัดการ เปิดเผย และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 1 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2564