อาสาดูแลผู้สูงอายุ
08 สิงหาคม 2561 จำนวนผู้ชม
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมสภาพลง มีโอกาสเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ทำให้กลายเป็นภาระต่อผู้ดูแล ซึ่งความเป็นจริงแล้วผู้สูงอายุเองไม่ได้ต้องการเป็นเช่นั้น ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงก็มีไม่เพียงพอ อีกทั้งประชากรวัยหนุ่มสาวที่จะเป็นกำลังในการดูแลผู้สูงอายุได้ ก็มีจำนวนน้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา แนวโน้มสัดส่วนของผู้สูงอายุในประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็น สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2567 หรืออีก 6 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในปัญหาของผู้สูงอายุ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจนอาจทำให้กลายเป็นปัญหาสังคมได้ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุสภากาชาดไทย หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ พึ่งพาอาศัยกัน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการพัฒนาอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุสภากาชาดไทย เป็นหลักสูตรที่สร้างวิทยากรเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยได้รับการคัดเลือกจากเหล่ากาชาดจังหวัด จำนวน 42 คน จาก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชัยนาท จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล เมื่อมีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ฯ โดยศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาล ฯ แล้ว จากนั้นวิทยากรเครือข่ายจะนำความรู้ทั้งหมดไปอบรมอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุอีกต่อหนึ่งในหลักสูตรอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะอบรมอาสาสมัครจำนวน 700 คน โดยอาสาสมัคร ทั้ง 42 คน จาก 7 จังหวัด จะต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ตามหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีวิทยาจารย์จากศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย ให้คำปรึกษา แนะนำ และสนับสนุนงบประมาณ พร้อมกับวัสดุอุปกรณ์การอบรมทั้งหมด การอบรมจะแบ่งเป็น การบรรยายให้ความรู้ เทคนิค วิธีการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และการให้ฝึกปฏิบัติจริง ตั้งแต่การดูแลสุขภาพอนามัยผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การรับประทานยา การทำความสะอาดร่างกาย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับอุบัติเหตุ การทำกายภาพบำบัด และอีกหลายหลากวิธีการที่จะต้องนำมาใช้ในการปฏิบัติกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย เพื่อให้อาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบได้ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความพึงพอใจ รวมไปถึงลูกหลานที่ดูแลผู้สูงอายุเองก็ได้รับความรู้และสามารถนำวิธีการดูแลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์กับผู้สูงอายุในบ้านของตนเองได้ และภายหลังเสร็จสิ้นการอบรมดังกล่าวแล้ว วิทยากรเครือข่ายจะต้องเป็นผู้ติดตามประเมินผลอาสาสมัครด้านการดูแลผู้สูงอายุ ภายหลังการอบรม ประมาณ 1 เดือน รวมทั้งส่งสรุปรายงานประเมินผลให้กับศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย เพื่อนำไปประเมินผลโครงการและนำเสนอผลการปฏิบัติงานต่อสภากาชาดไทยต่อไป ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับกับสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการระดมทรัพยากร ทั้งในด้านการสร้างบุคลากร การปรับบทบาท หน้าที่ เพิ่มการประสานงานระหว่างองค์กร หน่วยงาน พัฒนารูปแบบและระบบต่างๆ ในการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยอย่างเท่าเทียมกันแก่ผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้